สมัชชายูเอ็นรับมติ “ยกระดับการมองเห็นของชาวโลก”

สมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รับรองมติว่าด้วย “การมองเห็นสำหรับทุกคน” เรียกร้องสมาชิกยูเอ็นจีเอทั้ง 193 ประเทศ ร่วมกันเพิ่มการให้ความสำคัญกับ “การมองเห็นและการเสริมสร้างสุขภาพตาที่ดีให้แก่ประชาชน” ภายในปี 2573 นับเป็นครั้งแรกที่ยูเอ็นจีเอมีมติเจาะจงไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรโลก ซึ่งมีความบกพร่องด้านการมองเห็น

ขณะเดียวกัน มติดังกล่าวยังเรียกร้องไปยังบรรดาประเทศผู้บริจาครายใหญ่ และสถาบันการเงินขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ มอบความสนับสนุนด้านการเงินเป็นพิเศษให้แก่ประเทศที่ยากจน และประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจัดการกับผลกระทบจากการมองเห็นของประชากร ที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบัน ประชากรโลกอย่างน้อย 2,000 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตในขณะที่สุขภาพการมองเห็นเสื่อมโทรม หรือถึงขั้นเป็นความพิการทางสายตา แต่ในเวลาเดียวกัน มีประชากรโลก 1,100 ล้านคน ดำเนินชีวิตบนความบกพร่องทางการมองเห็น “ที่สามารถแก้ไขได้” แต่กลับยังไม่ได้รับโอกาสนั้น แม้มติของยูเอ็นจีเอไม่มีผลผูกพันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) แต่ถือได้ว่ามติของยูเอ็นจีเอ “สะท้อนมุมมองของชาวโลกส่วนใหญ่” ที่มีต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง

นางราบับ ฟาติมา เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) หนึ่งในประเทศที่ร่วมจัดทำมติครั้งนี้ กล่าวว่า 90% ของประชากรโลก 1,100 ล้านคน ที่มีการมองเห็นไม่เป็นปกติ อาศัยอยู่ในประเทศยากจนและมีฐานะปานกลาง มากกว่าครึ่งเป็นเด็กและผู้หญิง สร้างความสูญเสียให้แก่เศรษฐกิจโลกประมาณปีละ 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 13.5 ล้านล้านบาท )