ฟอสฟีนบนดาวศุกร์อาจมาจากภูเขาไฟระเบิด

ปีที่แล้วนักวิทยาศาสตร์รายงานว่าตรวจพบสัญญาณของฟอสฟีน ซึ่งเป็นโมเลกุลของฟอสฟอรัส 1 อะตอมและไฮโดรเจน 3 อะตอมบนเมฆของดาวศุกร์ ขณะที่บนโลก ฟอสฟีนถูกผลิตขึ้นในโรงงานและพบได้ใกล้กับจุลินทรีย์บางชนิด ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอแนะว่าฟอสฟีนบนดาวศุกร์อาจเป็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ที่ร้อนและมีมลภาวะ

ทว่าผลการวิจัยใหม่จากนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ฟอสฟีนอาจไม่ใช่สัญญาณของสิ่งมีชีวิต แต่เป็นผลจากการปะทุของภูเขาไฟ โดยแนะนำว่าการระเบิดของภูเขาไฟสามารถพ่นฟอสฟีนออกสู่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้ หลังจากได้วิเคราะห์ข้อมูลในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเคมีของฟอสฟอรัสตลอดจนการคำนวณกิจกรรมของภูเขาไฟและบรรยากาศของดาวศุกร์

นักวิทยาศาสตร์พบว่าภูเขาไฟบนดาวศุกร์อาจนำสารประกอบฟอสฟอรัสจำนวนเล็กน้อยที่เรียกว่าฟอสไฟด์จากส่วนลึกในชั้นเปลือกดาวเคราะห์ขึ้นสู่บรรยากาศ การระเบิดของภูเขาไฟสามารถพ่นฟอสไฟด์เหล่านี้ในรูปของฝุ่น เมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ สารเคมีจะทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริกเพื่อสร้างฟอสฟีน

และเพื่อให้ฟอสไฟด์ไปถึงระดับความสูงที่จำเป็นสำหรับการตรวจจับฟอสฟีนได้ อย่างที่รายงานเมื่อปีก่อน นักวิทยาศาสตร์นำเสนอว่า จำเป็นต้องมีการระเบิดบนดาวศุกร์ในระดับที่เทียบได้กับการปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวบนโลกในปี 2426 ซึ่งเป็นภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้บนโลก.